Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

ประวัตินครลำปาง

จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี มีชื่อเรียกขานกันหลายชื่อซึ่งปรากฏ หลักฐานตามตำนานต่าง ๆ รวม 11 ชื่อ ได้แก่ กุกกุฏนคร ลัมภกับปะนคร ศรีนครชัย นครเวียงคอกวัว เวียงดินเขลางค์นคร นครลำปางคำเขลางค์ อาลัมภางค์ เมืองลคร และเมืองนครลำปาง จากการที่เรียกขานกันว่า “กุกกุฏนคร”แปลว่า เมืองไก่ ดังนั้น ตราประจำจังหวัดลำปาง คือ “ไก่ขาว”จังหวัดลำปางสร้างเมื่อปี พ.ศ.1223 จากหนังสือพงศาวดารโยนกกล่าวว่า “สุพรหมษี” สร้างเมืองเพื่อให้เจ้าอนันตยศ โอรสพระนางจามเทวี ครองคู่กับเมืองหริภุญชัย
(ลำพูน) ให้ชื่อเมืองว่า “นครเขลางค์” ต่อมาเปลี่ยนเป็น“นครอัมภางค์” และเปลี่ยนชื่อเป็น “นครลำปาง” ในภายหลังในสมัยโยนกเชียงแสน นครลำปางเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจ
ของขอม เคยเป็นเมืองประเทศราชของพม่าและเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี “เจ้าทิพย์ช้าง” สามารถขับไล่พวกพม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ จึงได้รับการสถาปนาเป็น
“เจ้าพระยาสุลวชัยสงคราม” ขึ้นครองนครลำปางในปี พ.ศ.2279 ในปี พ.ศ.2307 “เจ้าแก้วฟ้า” พระโอรสของเจ้าทิพย์ช้างได้ขึ้นครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง
ณ ลำพูน รวมทั้ง ณ เชียงใหม่ ในเวลาต่อมา และมี “เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต” เป็นผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย จังหวัดลำปางได้ประกาศจัดตั้งเป็นจังหวัด ในปี พ.ศ.2435 (สมัยรัชกาลที่ 5) โดยขึ้นอยู่กับมณฑลพายัพ สมัยหนึ่ง (พ.ศ.2443) ต่อมาในปี พ.ศ.245๘ (สมัยรัชกาลที่ ๖) แยกท้องที่มณฑลพายัพจัดตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ คือ เมืองนครน่าน เมืองนครลำปาง และเมืองแพร่ ในปี พ.ศ.2459 เปลี่ยนคำว่าเมือง ใช้เรียกว่าจังหวัดและในปี พ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่ออำเภอในจังหวัดลำปาง ทั้งที่คงชื่อเดิมและเปลี่ยนชื่อใหม่ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง
อำเภอแม่ทะ อำเภอเกาะคา อำเภอหางสัตว์ (ปัจจุบันคือ อำเภอห้างฉัตร) อำเภอเมืองลอง อำเภอแจ้ห่ม อำเภอสบปราบ อำเภอเมืองงาว อำเภอเมืองเถิน และกิ่งแม่พริก ทั้งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2460 อำเภอสบปราบ ถูกยุบเป็น กิ่งอำเภอสบปราบ ขึ้นอำเภอเกาะคา และในปี พ.ศ.2464 อำเภอเมืองลอง โอนไปขึ้นจังหวัดแพร่ ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ.2475 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองใหม่ โดยได้ออกกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินฉบับแรกในปี พ.ศ.2476 คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 ยกเลิกระบอบมณฑล เทศาภิบาลและจัดระเบียบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ “จังหวัดลำปาง” จึงมีฐานะ เป็นจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476
วันที่ 14 มีนาคม 2480 แบ่งท้องที่อำเภอแจ้ห่ม ตั้งเป็นกิ่งอำเภอวังเหนือ ขึ้นอำเภอแจ้ห่ม
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2496 ให้ตั้งกิ่งอำเภอสบปราบ เป็นอำเภอสบปราบ
วันที่ 12 กรกฎาคม 2501 ให้ตั้งกิ่งอำเภอวังเหนือ เป็นอำเภอวังเหนือ และตั้งกิ่งอำเภอแม่พริก เป็นอำเภอแม่พริก
วันที่ 16 สิงหาคม 2514 แบ่งท้องที่อำเภอเกาะคา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเสริมงาม ขึ้นอำเภอเกาะคา                                                                                                                     วันที่ 8 สิงหาคม 2518 ให้ตั้งกิ่งอำเภอเสริมงาม เป็นอำเภอเสริมงาม
วันที่ 15 เมษายน 2519 แบ่งท้องที่อำเภอเมืองลำปาง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่เมาะ ขึ้นอำเภอเมืองลำปาง
วันที่ 16 กรกฎาคม 2527 ให้ตั้งกิ่งอำเภอแม่เมาะ เป็นอำเภอแม่เมาะ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แบ่งท้องที่อำเภอแจ้ห่ม ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองปาน ขึ้นอำเภอแจ้ห่ม
วันที่ 3 เมษายน 2527 ให้ตั้งกิ่งอำเภอเมืองปาน เป็นอำเภอเมืองปาน                                                                                                                                                    

ตราประจำจังหวัดลำปาง       

                                                                                                                                                                                            รูปไก่ขาวยืนอยู่ในซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวงไก่ขาว หมายถึง ไก่เผือก เป็นสัญลักษณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองกุกกุฏนคร (ตำนานเมืองลำปาง) และได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ โดยปรากฏเครื่องหมายไก่เผือกคู่กับดวงตราแผ่นดินในศาลากลางเมืองลำปาง ตั้งแต่สมัยเริ่มเปลี่ยนที่ทำการเมืองจาก “เค้าสนามหลวง” เป็นศาลากลางเมืองนครลำปางขึ้น ในสมัยเริ่มสร้างศาลากลางหลังแรกเมื่อปี พ.ศ.2452 ซุ้มมณฑปพระธาตุลำปางหลวง หมายถึง ซุ้มมณฑปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นศิลปกรรม ล้านนาที่งดงามมาก วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง มีองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก         

 ต้นไม้ประจำจังหวัดลำปาง         

                                                                                                                                                                                       

ต้นขะจาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Holoptelea integrifolia Planch.

ชื่อสามัญ Indian elm

ชื่ออื่น : กระเจา กระเชา กะเซาะ กาซาว กระเช้า กระเจาะ ขะเจาแจง พูคาว มหาเหนียว ฮ้างคาว ฮังคาว

ลักษณะทั่วไป ต้นขะจาวเป็นไม้ยืนต้นสูง 25 เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรงเปลือกสีน้ำตาลปนเทา มีต่อมระบายอากาศเป็นจุดกลมเล็ก ๆ สีขาวมองเห็นได้ง่าย เรือนยอดเป็นพุ่มรูปไข่กว้างค่อนข้างทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่นใบรูปรีป้อม โคนใบมนหรือป้านปลายใบเรียวแหลม ก้านใบมีขนออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบดอกขนาดเล็ก แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ผลเป็นรูปโล่แบน มีปีกบางล้อมรอบ

 ดอกไม้ประจำจังหวัดลำปาง

ดอกธรรมรักษา

ลักษณะทั่วไป ธรรมรักษาเป็นพรรณไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ลักษณะคล้ายกับกล้วย ลำต้นสูงประมาณ1-2 เมตร เจริญเติบโตโดยการแตกหน่อออกมาเป็นกอลักษณะใบคล้ายใบกล้วย เรียงสลับกัน มีสีเขียว ผิวเรียบ เป็นมัน

 ลายผ้าอัตลักษณ์ลำปาง

ลายละกอนไส้หมู เป็นลวดลายของสกุลช่างที่ปรากฎในสถาปัตยกรรม วัด บ้านเรือน และงานพุทธศิลป์ของจังหวัดลำปาง จำนวนมาก ลักษณะของลวดลายต่อเนื่องตลอดชิ้นงาน ไม่ขาดช่วง และยังสามารถลื่นไหล ปรับรูปแบบให้มีความเป็นสากลและร่วมสมัย สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการผลิตผ้าได้หลากหลายเทคนิควิธี อาทิ เทคนิคการยกการพิมพ์ลาย การปักทอ การมัดย้อม รวมถึงพัฒนาลวดลายให้สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นได้

 

สีอัตลักษณ์ลำปาง

สีแดงครั่งและสีเขียวมะกอก เป็นสีที่นิยมใช้ บนผืนผ้าของจังหวัดลำปางมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากจังหวัดลำปางเป็นแหล่งปลูกครั่งมากที่สุดในประเทศไทย และจังหวัดลำปางมีดินจากภูเขาไฟแฝด คือ ภูเขาไฟดอยผาคอก-จำปาแดด และผาคอก-หินฟู ซึ่งไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย

 

ทรัพยากรธรณีสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง

ถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะถ่านหินชนิดลิกไนต์ เป็นแร่เชื้อเพลิงธรรมชาติ เกิดจากการสะสมตะกอนทะเลสาบเมื่อ 13 ล้านปีก่อน พบที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำเหมืองลิกไนต์เพื่อป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้า

 

  คำขวัญของจังหวัดลำปาง  ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก

 

 

      จังหวัดลำปางตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธิน ประมาณ 602 กิโลเมตร ตามทางรถไฟประมาณ 625 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ12,533.961 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,833,726 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของประเทศ และอันดับ 5 ของภาคเหนือ รองจากเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดข้างเคียง 7 จังหวัด
ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดตาก

ภูมิประเทศ
จังหวัดลำปาง พื้นที่มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 268.80 เมตร มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไปทอดตัวยาวตามแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ของจังหวัด และในบริเวณตอนกลางของจังหวัดบางส่วนมีที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ และตามลักษณะทางกายภาพทางด้านธรณีสัณฐานวิทยา จังหวัดลำปางมีพื้นที่เป็นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีลักษณะเป็นแอ่งแผ่นดินที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือ เรียกว่า “อ่างลำปาง” เป็นอ่างที่ยาวและกว้างที่สุดในภาคเหนือลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือบริเวณตอนบนของจังหวัด    เป็นที่ราบสูง ภูเขา และเป็นป่าค่อนข้างทึบ อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้มีค่า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองปาน แจ้ห่ม วังเหนือ และงาวบริเวณตอนกลางของจังหวัด เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ  ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ พื้นที่อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง เกาะคา แม่ทะ และสบปราบบริเวณตอนใต้ของจังหวัด เป็นป่าไม้รัง บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้แก่ พื้นที่อำเภอเถิน แม่พริก บางส่วนของอำเภอเสริมงาม และแม่ทะจังหวัดลำปางมีภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ ดอยขุนตาล กั้นเขตแดนจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูน ดอยผีปันน้ำหรือดอยนางแก้ว      อยู่ในเขตอำเภอวังเหนือ กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงราย สูงประมาณ 1,500 เมตรดอยผาจ้อ ดอยกิ่งมณฑา และดอยขุนแม่เหล็ก แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญของจังหวัดลำปาง ได้แก่ แม่น้ำวัง น้ำแม่จาง น้ำแม่ต๋ำ น้ำแม่ตุ๋ย แม่น้ำตาน แม่น้ำยาว แม่น้ำสอย และน้ำแม่งาว

ภูมิอากาศ                                                                                                                                                                                                                ฤดูกาล ของจังหวัดลำปาง แบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวมากที่สุดในรอบปี
ฤดูฝน เริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตก-เฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นและมีฝนตกชุดตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมะเป็นต้นไป เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน
ฤดูหนาว เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและแห้ง เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือเดือนมกราคม                                                                                                                                                                                           อุณหภูมิ                                                                                                                                                                                                                เนื่องจากจังหวัดลำปางอยู่ทางภาคเหนือตอนกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงมีภูเขาล้อมรอบและมีบางส่วนเป็นป่าไม้ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั้งปี 26.7 องศาเซลเซียส และมีอากาศร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด เฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน เคยตรวจอุณหภูมิสูงสุดได้ 44.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 ณ สถานีตรวจวัดอำเภอเถิน ส่วนในฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.3 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศหนาวที่สุดอยู่ในเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำสุด 3.7 องศาเซลเซียส
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2542 ณ สถานีตรวจวัดอำเภอเมืองลำปาง
หมายเหตุ: สถิติภูมิอากาศที่เป็นค่าเฉลี่ยใช้ข้อมูล คาบ 30 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2534-2563 และสถิติภูมิอากาศที่มีค่าเป็นที่สุดใช้ข้อมูล ตั้งแต่ พ.ศ. 2494-2565
ฝน                                                                                                                                                                                                                          จังหวัดลำปางมีฝนอยู่เกณฑ์น้อย พื้นที่บริเวณอำเภอแม่ทะ สบปราบ และแม่พริก มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 900 มิลลิเมตร สำหรับบริเวณเกาะคา วังเหนือ แม่เมาะ ห้างฉัตร และเถิน มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,100-1,300 มิลลิเมตร ส่วนบริเวณอำเภอเมืองลำปาง ปริมาณฝนตลอดปีประมาณ 1,108.4 มิลลิเมตร และมีฝนตก 115 วัน เดือนกันยายนมีฝนตกมากที่สุด ปริมาณฝนตกมากที่สุด โดยมีปริมาณฝนเฉลี่ย 209.3 มิลลิเมตร และมีจำนวนวันฝนตก 18 วัน ปริมาณฝนตกมากที่สุดใน 1 วัน วัดได้ 191.2 มิลลิเมตร

การเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เลี้ยงลักษณะรายย่อยในท้องที่ 13 อำเภอ มีลักษณะการเลี้ยงหลากหลายและเลี้ยงภายในครัวเรือน เช่น เลี้ยงไก่พื้นเมือง ควบคู่กับการโคเนื้อลูกผสมพื้นเมือง สุกร เป็นต้น สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ จะอยู่ในรูปแบบการเลี้ยงลักษณะระบบฟาร์ม ในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง แจ้ห่ม แม่ทะ เกาะคา เสริมงามและอำเภอสบปราบ ลักษณะรับจ้างหรือสัญญาประกันระหว่างเกษตรกรกับตัวแทนบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัดบริษัท เบทาโกรภาคเหนืออุตสาหกรรม จำกัด บริษัท เก้าไก่ บริษัท หมูอินเตอร์ บริษัท RPM และกลุ่มอิสระ
สำหรับการเลี้ยงสุกร เป็นการเลี้ยงลักษณะฟาร์มในท้องที่อำเภอเมืองลำปาง ห้างฉัตร แม่ทะ เกาะคา และอำเภอเสริมงาม

การประมง
จังหวัดลำปางมีพื้นที่ทำการประมงทั้งสิ้น 6,321 ไร่ มีผู้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) จำนวน 13,256 ราย โดยเป็นฟาร์มเลี้ยง จำนวน 13,234 ราย ประเภทสัตว์น้ำ 30 ชนิด ได้แก่ ปลาพันธุ์ต่างๆ เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาไน ปลาสวาย ปลายี่สกเทศ ปลาทับทิม ปลาช่อน ฯลฯ กบ จระเข้น้ำจืด กุ้งก้ามแดง กุ้งก้ามกราม ปู ปูนา และเป็นโรงเพาะฟัก 22 ราย ประเภทสัตว์น้ำ 8 ชนิด ได้แก่ กุ้งก้ามแดง กบ ปลาพันธุ์ต่างๆ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเถิน เมืองลำปาง แม่ทะ งาว แม่เมาะ สบปราบ เกาะคา และเมืองปาน

สินค้าเกษตร/สินค้าเกษตรแปรรูปสำคัญ
1. สินค้าเด่นของจังหวัดลำปาง ได้แก่
- ข้าวอินทรีย์ ลักษณะเด่น ข้าวหอมใบเตย พื้นที่ปลูกอำเภอเมืองลำปาง จำนวน 20 ไร่ ผลผลิต 20 ตัน
- ข้าวอินทรีย์ ลักษณะเด่น ข้าวมะลิแดง พื้นที่ปลูกอำเภอเถิน จำนวน 60 ไร่ ผลผลิต 3.60 ตัน
- ข้าวอินทรีย์ ลักษณะเด่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวมะลิแดง พื้นที่ปลูกอำเภอแม่พริก
จำนวน 193.75 ไร่ ผลผลิต 6 ตัน
- ข้าว GAP ลักษณะเด่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทับทิมชุมแพ พื้นที่ปลูกอำเภอห้างฉัตร
จำนวน 180 ไร่ ผลผลิต 100 ตัน
- ข้าว ลักษณะเด่น ข้างกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสายน้ำแร่แจ้ซ้อน พื้นที่ปลูกอำเภอเมืองปาน
จำนวน 8 ไร่ ผลผลิต 3.6 ตัน
- สับปะรด GAP ลักษณะเด่น สับปะรด GAP เกษตรกร จำนวน 595 ราย พื้นที่ปลูกอำเภอ-
เมืองลำปาง และอำเภอแจ้ห่ม จำนวน 3,920.50 ไร่
- ส้มเกลี้ยง GAP ลักษณะเด่น น้ำส้มเกลี้ยง เกษตรกร จำนวน 196 ราย พื้นที่ปลูกอำเภอแม่พริก และ
อำเภอเถิน จำนวน 339.45 ไร่
2. สินค้า GI ของจังหวัดลำปาง ได้แก่
- ข้าวแต๋นลำปาง ลักษณะเด่น คือ ข้าวเหนียวทอดกรอบราดด้วยน้ำอ้อยที่ผลิตในพื้นที่
จังหวัดลำปาง ด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของชาวบ้านจังหวัดลำปาง ทำจากข้าวเหนียวพันธุ์ กข. 6
ข้าวเหนียวก่ำ (ข้าวเหนียวดำ) รสชาติหวาน หอม กรอบ มัน อร่อย กลุ่มเครือข่ายข้าวแต๋นจังหวัดลำปาง 81
หมู่ที่ 2 ตำบลนาแก้ว อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
3. สินค้า OTOP
- กาแฟคั่วคู่ขวัญ ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต กาแฟสดเขลางค์นครจากไร่ปางมะโอ
ตำบลวังเงิน อำเภอแม่ทะ แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ เกษตรกรผลิตเอง
- ข้าวไรซ์เบอรรี่แจ้ซ้อน ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ กลุ่มข้าวทิพย์ร่มโพธิ์
ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ เกษตรกรผลิตเอง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลำปาง ได้ตรวจ
รับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปางสนับสนุนบรรจุภัณฑ์
- กาแฟอาราบิก้าคั่วเมล็ด ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ สุวรรณการ์เด้น ตำบลแจ้ซ้อน
อำเภอเมืองปาน แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ เกษตรกรผลิตเอง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปางสนับสนุนเครื่องกะเทาะ
เปลือกกาแฟ
- ไส้อั่วปลาสมุนไพร ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ ไส้อั่วสมุนไพรสุภัทรา ตำบลชมพู
อำเภอเมืองลำปาง แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ ร้านขายส่งปลาเนื้อที่ขูดสำเร็จแล้วเพื่อมาทำไส้อั่ว เครื่องสมุนไพรซื้อจาก
เกษตรกรในพื้นที่และตลาดในชุมชน
- ลูกชิ้นหมู ตราอรรถวัฒน์ ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ ลูกชิ้น-หมูยอ อรรถวัฒน์
ตำบลชมพู อำเภอเมืองลำปาง แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ ฟาร์มในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง
- น้ำพริกกรอบสมุนไพร ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเมาะหลวง
ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ กลุ่มสหกรณ์การเกษตรแม่เมาะพัฒนาจำกัด
- น้ำพริกตาแดง (ตำรับล้านนา) ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร-
สันป่าสัก (น้ำพริกตาแดง) ตำบลใหม่พัฒนา อำเภอเกาะคา แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ ตลาดในพื้นที่อำเภอเกาะคา
ตลาดชุมชน และตลาดในจังหวัด
- ข้าวแต๋นน้ำแตงโมหน้าอ้อย-งา ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร-
ลำปางหลวง ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ รับซื้อข้าว ณ โรงสี ในพื้นที่อำเภอเกาะคา                                                                                                                                                         - ไข่เค็มเสริมไอโอดีน ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ กลุ่มแม่บ้านบ้านมั่ว ตำบลทุ่งงาม
อำเภอเสริมงาม แหล่งรับซื้อวัตถุดิบ ตลาดชุมชนในพื้นที่และตลาดในจังหวัด
- ขมิ้นชันแคปซูล ผู้ประกอบการ/กลุ่มเกษตรกรที่ผลิต คือ สหกรณ์การเกษตรสมุนไพรตำบล-
แม่มอก จำกัด ตำบลแม่มอก อำเภอเถิน สำนักงานสหกรณ์จังหวัดกำกับติดตามกระบวนการผลิตสมุนไพร
4. โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
เป็นโครงการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีพื้นที่เป้าหมาย
13 อำเภอ 25 ตำบล 30 หมู่บ้าน มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ดังนี้
1. บ้านทุ่งขาม ต.ใหม่พัฒนา อ.เกาะคา จุดเด่น คือ เป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ เศรษฐกิจพอเพียง
และปลูกผักปลอดสารพิษ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ
2. บ้านปางมะโอ ต.วังเงิน อ.แม่ทะ จุดเด่น คือ มีผลผลิตโดดเด่น คือ เห็ดหอม กาแฟ และผลไม้
ตามฤดูกาล โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม
3. บ้านกิ่วหลวง ต.บ้านกิ่ว อ.แม่ทะ จุดเด่น คือ มีการปลูกผักพื้นบ้าน ผักเชียงดา และสมุนไพร
สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ให้การสนับสนุนโรงคัดบรรจุ
4. บ้านแม่แจ๋ม ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จุดเด่น คือ มีการปลูกกาแฟ ไม้เมืองหนาว (สตรอเบอร์รี่
และแมคคาเดเมีย) โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง สนับสนุนเครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟ
5. บ้านแป้นใต้ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม มีการปลูกผักปลอดสารพิษ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง
ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ
ที่มา: สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง. เอกสารเผยแพร่ ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดลำปางที่ใช้สนับสนุน การตรวจราชการ และ ครม.
สัญจร ข้อมูลพื้นฐานภาพรวมจังหวัดลำปางเดือนสิงหาคม 2566. สืบค้นเมื่อเดือนกันยายน 2566

อุตสาหกรรม
สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง ได้แก่ อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน และโรงงานอุตสาหกรรม ปริมาณแร่ที่ผลิตได้ทั้งหมด ในปี 2566 (1 ตุลาคม 2565- 30 เมษายน 2566) จำนวน 12,397,195.11 เมตริกตัน โดยชนิดแร่ที่ผลิตได้มากที่สุด ได้แก่ ถ่านหิน ผลิตได้ 7,893,891.86 เมตริกตัน รองลงมาเป็นหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ ผลิตได้ 1,980,000 เมตริกตัน และหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม-ก่อสร้าง ผลิตได้ 1,145,200.80 เมตริกตัน     การนำไปใช้ อุตสาหกรรมการทำเหมืองถ่านหิน (เกรดลิกไนต์) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.แม่เมาะ) เพื่อใช้ไปในการผลิตกระแสไฟฟ้าและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเหมืองหิน ได้แก่ อุตสาหกรรมการทำหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมซีเมนต์ การทำเหมืองหินปูนเพื่อ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การทำเหมืองแร่ดินขาว บอลเคลย์ และถ่านหิน                                                                                                                                                                                                                             โรงงานอุตสาหกรรม
มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ดังนี้
1) กลุ่มอุตสาหกรรมอโลหะ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมทำเครื่อง เคลือบดินเผาหรือเซรามิก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมมีชื่อเสียงควบคู่กับจังหวัดลำปางมาเป็นระยะเวลานาน จนเป็นเอกลักษณ์ในนาม “ถ้วยชามตราไก่” นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ได้มีการทำอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาในหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งประกอบกิจการในลักษณะหัตถอุตสาหกรรมจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
2) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องเรือน อุตสาหกรรมเลื่อยไม้ อุตสาหกรรมแกะสลักทำผลิตภัณฑ์และอื่นๆ จากไม้โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแกะสลักไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางมานาน
3) กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มที่สำคัญๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูป ผัก ผลไม้บรรจุกระป๋อง เช่น สับปะรด ลิ้นจี่ ลำไย ข้าวโพดหวาน หน่อไม้ ผักกาดดอง อุตสาหกรรมห้องเย็น และแช่แข็งเพื่อเก็บพืชผักและผลไม้ อุตสาหกรรมผลิตแป้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว อุตสาหกรรมผลิตครั้งเม็ด และอุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่ม น้ำอัดลม
4) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า จังหวัดลำปางเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน ถ่านหินเหมืองแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 2,400 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล และยังมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำอีก 2 แหล่ง ได้แก่ เขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมา รวมกำลังการผลิต จำนวน 5.53 เมกะวัตต์ 

อุตสาหกรรมไม้ ไม้ถือเป็นฐานวัตถุดิบที่สำคัญของจังหวัดลำปางมาอย่างยาวนาน มีการนำไม้มาใช้ประโยชน์โดยแปรรูปไม้ทางอุตสาหกรรมในพื้นที่หลากหลายประเภท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในพื้นที่จังหวัดลำปางมีโรงงานแปรรูปไม้ทั้งสิ้น 108 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักร 106 แห่งและโดยใช้แรงคน 2 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปฯ เพื่อประดิษฐกรรม ทั้งนี้ โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง และอำเภอห้างฉัตร ในขณะที่อำเภอสบปราบ อำเภอแม่พริก และอำเภอเมืองปาน ไม่มีโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรในพื้นที่

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
จังหวัดลำปางมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศาสนสถาน และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและหัตถกรรม ดังนี้
แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล อุทยานแห่งชาติดอยจง อุทยานแห่งชาติแม่วะ เขลางค์บรรพต (เตรียมการประกาศ) อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการประกาศ) ฯลฯ ซึ่งภายในมีจุดท่องเที่ยว เช่น น้ำตก น้ำพุร้อน ถ้ำ ผา/ดอย เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จุดชมวิว ฯลฯ โครงการชลประทาน/แหล่งน้ำ เช่น เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำวังฮือ อ่างเก็บน้ำแม่มอกเป็นต้น                                                                                                         แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา เช่น ภูเขาไฟผาลาด ภูเขาไฟจำป่าแดด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี สวนพฤกษชาติทุ่งบัวตองในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลานดอกเสี้ยวบ้านป่าเมี่ยง
แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ประตูผา กู่เจ้าย่าสุตา ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดลำปาง ศาลเจ้าพ่อประตูผา อนุสาวรีย์เจ้าพระยาสุลวชัยสงคราม (เจ้าพ่อทิพย์ช้าง) อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาคำลือ บ้านหลุยส์ สะพานรัษฏาภิเศก สถานีรถไฟลำปาง หออะม็อก (หอปืนโบราณ) กำแพงเมืองลำปาง (ประตูม้า) สะพานโยงเมืองงาว มิวเซียมลำปาง พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน บ้านป่องนัก (พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32) พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา อาทิ อำเภอเมืองลำปาง วัดบุญวาทย์วิหาร พระอารามหลวง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดพระเจดีย์ซาวหลัง วัดพระธาตุเสด็จ วัดม่อนพระยาแช่ วัดศรีรองเมือง วัดศรีชุม วัดป่าฝาง วัดไชยมงคล(วัดจองคา) วัดม่อนจำศีล วัดม่อนสัณฐาน (วัดม่อนปู่ยักษ์) วัดปงสนุกเหนือ วัดปงสนุกใต้ วัดประตูป่อง วัดเชียงรายวัดท่ามะโอ วัดพระเจ้าทันใจ วัดกู่คำ วัดพระธาตุม่วงคำ วัดป่าพระเจ้าอุทุมพร สำนักปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเกษมเขมโกอำเภอเกาะคา วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุจอมปิง วัดเสลารัตน์ปัพพตาราม (วัดไหล่หิน) อำเภอเถิน วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ วัดอุมลอง วัดเวียง อำเภอแม่ทะ วัดถ้ำพระสบาย วัดสันดอยน้อย วัดป่าเพิ่มพูน วัดพระธาตุสันดอน (สะพานบุญขัวแตะ) วัดพระธาตุดอยพระฌาน อำเภองาว วัดจองคำ พระอารามหลวง อำเภอห้างฉัตร วัดปงยางคก อำเภอวังเหนือ วัดบ้านก่อ วัดพระเกิด อำเภอแม่เมาะ วัดรัตนคูหา-ถ้ำผากล้วย อำเภอแจ้ห่ม วัดอักโขชัยคีรี
วัดพุทธบาทสุทธาวาส วัดดงนั่งชัยคีรี วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง) อำเภอเมืองปาน วัดพระธาตุจอมก้อย (พระพุทธเจ้าตอกสาน) วัดข่วงกอม วัดศรีหลวงแจ้ซ้อน อำเภอเสริมงาม วัดนางอย (วัดหลวงนางอย) อำเภอแม่พริก วัดพระพุทธบาทวังตวง ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม/หัตถกรรม/OTOP อาทิ ศูนย์ศิลปาชีพแม่ต๋ำ โครงการพระราชดำริบ้านทุ่งจี้ ถนนคนเดินกองต้า ถนนวัฒนธรรม กาดเก้าจาว กาดต้นเงิน กาดนัดสะพานโยง พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดีบ้านหลุก (แกะสลักไม้) บ้านม่อนเขาแก้ว (ปั้นหม้อดิน) บ้านขามแดง (ตีมีด) บ้านท่าล้อ (กระดาษสา) บ้านฮ่องกอก(ดอกไม้ประดิษฐ์) บ้านศรีหลวงแจ้ซ้อน (ทอผ้าน้ำมอญ) ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน อาทิ อำเภอเมืองลำปาง ชุมชนท่ามะโอ อำเภอเกาะคา บ้านไหล่หิน (โป่งร้อน) อำเภอเถิน แม่วะท่าช้าง อำเภอแม่ทะ ชุมชนบ้านสามขา ชุมชนบ้านหลุก (แกะสลัก) วิสาหกิจบ้านกิ่ว กลุ่มฮักน้ำจาง อำเภองาว ชุมชนบ้านแม่ฮ่าง บ้านบ่อสี่เหลี่ยม อำเภอห้างฉัตร ชุมชนบ้านวอแก้ว บ้านทุ่งเกวียน (ท่องเที่ยว OTOP) อำเภอวังเหนือ ชุมชนบ้านปงถ้ำ บ้านทุ่งฮี อำเภอแม่เมาะ ชุมชนแม่เมาะหลวง ชุมชนบ้านท่าสี ชุมชนบ้านจำปุย อำเภอแจ้ห่ม บ้านสาแพะ (ดอยฟ้างาม) บ้านทุ่งฮ้าง อำเภอเมืองปาน บ้านป่าเหมี้ยง บ้านแม่แจ๋ม อำเภอเสริมงาม บ้านแม่ต๋ำ (ศิลปาชีพ) บ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอสบปราบ บ้านแก่น อำเภอแม่พริก บ้านผาปัง ฯลฯ                                                                                                     แหล่งท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ อาทิ บ้านใหม่พัฒนา (ชาวม้ง) บ้านป่าคา (ชาวลาหู่) บ้านปางต้นหนุน (ชาวลาหู่) บ้านแม่หมี (ชาวปกากะญอ) บ้านไร่ (ชาวลาหู่) บ้านบ่อสี่เหลี่ยม (ชาวอิ้วเมี่ยน) บ้านแม่ฮ่าว (ชาวปกากะญอ) บ้านจ้าปุย (ชาวปกากะญอ ชาวม้ง ชาวขมุ)
แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ถ่านหินลิกไนต์ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมป์ฯ สวนสาธารณะ

สินค้าพื้นเมือง
ผ้าทอมือ ในบางหมู่บ้านที่ยังมีการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเองแล้วนำมาย้อมสีธรรมชาติ พื้นที่ปลูกฝ้ายพันธุ์ดีอยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม บ้านทุ่งกว๋าว อำเภอเมืองปาน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวนิยมทอเป็นผ้าลายยก ส่วนที่บ้านหลวง อำเภอแม่ทะ นิยมทอเป็นลายเชิง นอกจากนี้ยังมีที่ร้านบ้านฝ้ายถนนพหลโยธิน อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งมีโรงทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือประณีตไม้แกะสลัก มีที่หมู่บ้านแกะสลัก บ้านหลุก ตำบลนาครัว ห่างจากอำเภอแม่ทะประมาณ 2 กิโลเมตรส่วนใหญ่ใช้ไม้ฉำฉา จามจุรี แกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า สิงโต กวาง และทำเป็นเครื่องใช้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาเซรามิก เนื่องจากลำปางเป็นแหล่งดินขาวคุณภาพดีและมีมากที่สุดในประเทศไทยเมื่อนำไปเผาไฟจะได้ดินขาวที่มีคุณภาพทนทานมากจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเคลือบดินเผาจำนวนมากอยู่สองฝั่งถนนเส้นทางเข้าตัวเมือง ผู้สนใจสามารถเข้าชมกรรมวิธีการผลิตและเลือกซื้อสินค้าได้ที่โรงงานกระดาษสา เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของบ้านน้ำโท้ง จนมีชื่อเรียกว่ากระดาษน้ำโท้ง และยังมีการผลิตที่บ้านบ่อแฮ้ว อำเภอห้างฉัตร กระดาษสานี้ทำมาจากกระดาษปอสาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน เนื้อเยื่อเหนียว สามารถประดิษฐ์เป็นของใช้และของที่ระลึกสวยงามหลายรูปแบบ เช่น ร่ม โคมไฟ ไส้เทียน ดอกไม้แห้ง
กรอบรูป กระเป๋า และของชำร่วยอื่น ๆรถม้าย่อขนาด เป็นของฝากที่ผู้รับจะต้องประทับใจในงานศิลป์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาจากความประณีตละเอียดอ่อนของผู้ที่มีความผูกพันและเข้าใจองค์ประกอบทุกส่วนของรถม้า เพราะสร้างให้ขยับเขยื้อนได้มีการตกแต่งรถม้าและเครื่องแต่งกายของสารถีได้สวยงามเหมือนรถม้าจริง
   ที่มา: 1) สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). สถิติการท่องเที่ยวในประเทศ สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นรายจังหวัดพ.ศ.2554-2563 . สืบค้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จาก http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/13.aspx.
        2) สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดลำปาง. ประกาศจังหวัดลำปาง เรื่อง งานประเพณีท้องถิ่นในพื้นที่เขตจังหวัดลำปางวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561. สืบค้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จาก www.lampanglocal.go.thหนองกระทิง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 14 พรรษา (สวนสาธารณะประตูเวียง) ฯลฯ

การเดินทาง
การเดินทางสู่จังหวัดลำปาง สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง รถไฟ และ
ทางเครื่องบิน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 การเดินทางโดยรถยนต์
เดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 52 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่าน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท เข้าจังหวัดนครสวรรค์ แล้วแยกซ้าย เข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัด
กำแพงเพชร ตาก ตรงเข้าสู่จังหวัดลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง
การเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดลำปาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง มีรถโดยสารปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-ลำปาง ให้บริการหลายบริษัท เช่น บขส นครชัยแอร์ บางกอกบัสไลน์
เป็นต้น ให้บริการทุกวัน ทั้งนี้ มีรถโดยสารประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ ปลายทางจังหวัดอื่นที่ผ่านจังหวัดลำปางด้วย เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-เชียงราย กรุงเทพฯ-ลำพูน เป็นต้น
การเดินทางระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดอื่น จังหวัดลำปางเป็นต้นทางเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง จำนวน 5 สายทาง ได้แก่ ลำปาง-เชียงใหม่ ลำปาง-แพร่ ลำปาง-ลี้ ลำปาง-เชียงราย
และลำปาง-พะเยา-เชียงราย มีรถโดยสารปรับอากาศ รถโดยสารธรรมดา หรือรถตู้โดยสาร ให้บริการหลายบริษัท เช่น สหกรณ์เดินรถลำปาง กรีนบัสไทยแลนด์ บริษัท นครลำปางบริการขนส่ง จำกัด เป็นต้น
ให้บริการทุกวัน ทั้งนี้ มีรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดต้นทาง/ปลายทางจังหวัดอื่นที่ผ่านจังหวัดลำปางด้วย เช่น นครสวรรค์-เชียงใหม่ พิษณุโลก-เชียงใหม่ เชียงใหม่-ขอนแก่น เชียงใหม่-ระยอง เชียงใหม่-ภูเก็ต
แม่สอด-แม่สาย เชียงใหม่-ทุ่งช้าง เป็นต้น

การเดินทางภายในจังหวัด การเดินทางภายในเขตเมืองลำปาง มี 3 เส้นทาง ได้แก่
(1) วงกลมโรงเรียนวัดนาก่วมใต้[i1] (2) วงกลมสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำปาง-ท่าอากาศยานนครลำปาง[i2] และ (3) วงกลมประตูชัย[i3] มีรถสองแถวให้บริการ ทั้งนี้ เวลาเดินรถไม่แน่นอน
สำหรับการเดินทางระหว่างอำเภอ มี 16 เส้นทาง ได้แก่ ลำปาง-เถิน, ลำปาง-แม่ทะ ,ลำปาง-สบปราบ ,ลำปาง-งาว ,ลำปาง-ห้างฉัตร-ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย, ลำปาง-น้ำตกวังแก้ว ,ลำปาง-แม่พริก
ลำปาง-บ้านทาน (แม่เมาะ) ,ลำปาง-เมืองปาน ,ลำปาง-ห้างฉัตร-เมืองยาว, ลำปาง-แพะหนองแดง,ลำปาง- บ้านปางมะโอ ,ลำปาง- บ้านนาไผ่-แม่ผึ้ง (เกาะคา - เสริมงา ม) ลำ ป าง - บ้านกิ่วล ม
วงกลมอำเภอเถิน-อำเภอแม่พริก และบ้านห้วยอูน-บ้านแม่ตีบ (อำเภองาว) เป็นต้น มีรถตู้โดยสารหรือสองแถวให้บริการ ทั้งนี้ เวลาเดินรถไม่แน่นอน
สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำปาง (เทศบาลนครลำปาง) โทรศัพท์ 0-5421-8219

การเดินทางโดยรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย บริการรถด่วน รถเร็ว และรถธรรมดา จากสถานีรถไฟหัวลำโพง สิ้นสุดที่สถานีรถไฟนครเชียงใหม่ซึ่งผ่านสถานีรถไฟนครลำปาง ทุกวัน รายละเอียด ติดต่อได้ที่การรถไฟ แ ห ่ง ป ร ะ เ ทศ ไ ทย
สายด่วน 1690

การเดินทางโดยเครื่องบิน
จังหวัดลำปาง มีบริการเดินทางโดยเครื่องบินทุกวัน โดย ณ เดือนกันยายน 2566 มีสายการบินให้บริการ จำนวน 1 บริษัท คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ โดยบริการเส้นทางสุวรรณภูมิ-ลำปาง-สุวรรณภูมิ ทำการบินทุกวัน วันละ 2 เที่ยวบิน และสายการบินได้เปิดให้บริการเส้นทางบินสุวรรณภูมิ-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน (ไป-กลับ) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ สามารถตรวจสอบสามารถตรวจสอบตารางบินได้จากเว็บไซต์สายการบิน
www.bangkokair.com หรือศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร. 1771 หรือสอบถามท่าอากาศยานลำปาง โทรศัพท์ 054-821505-08
ที่มา: 1) กรมทางหลวง. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเดินทาง. สืบค้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566                                                                                                                 จาก https://dohgis.doh.go.th/dohtotravel/
     2) สำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง. เดือนมิถุนายน 2565

ข้อมูลจังหวัดลำปาง เพิ่มเติม b_lampang_02112566.pdf

 

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 163,179